ยานวอยเอเจอร์ 2 เดินทางพ้นขอบเขตลมสุริยะแล้ว

This illustration shows the position of NASA’s Voyager 1 and Voyager 2 probes, outside of the heliosphere, a protective bubble created by the Sun that extends well past the orbit of Pluto (c) NASA/JPL

ยานสำรวจอวกาศ “วอยเอเจอร์ 2” (Voyager 2) ซึ่งออกเดินทางจากโลกเมื่อปี 1977 หรือเมื่อ 41 ปีก่อน ขณะนี้ได้ออกพ้นจากเขตอิทธิพลลมสุริยะ (Heliosphere) และเคลื่อนเข้าสู่บริเวณห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว ซึ่งเป็นทิศทางมุ่งสู่สุดขอบเขตของระบบสุริยะต่อไป

ยานลำนี้ถือเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นชิ้นที่ 2 ที่เดินทางถึงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 18,000 ล้านกิโลเมตร หลังจากที่ยานวอยเอเจอร์ 1 ได้เดินทางไปถึงก่อนหน้าแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2012

ศ. เอ็ดเวิร์ด สโตน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ซึ่งรับผิดชอบดูแลภารกิจยานวอยเอเจอร์ 2 กล่าวยืนยันว่ายานได้เข้าสู่บริเวณห้วงอวกาศที่เรียกกันว่า “ตัวกลางระหว่างดวงดาว” (Interstellar medium) ซึ่งเป็นที่ว่างที่ประกอบด้วยกลุ่มก๊าซ ฝุ่นละออง รวมทั้งอนุภาคและรังสีต่าง ๆ ในภาวะสุญญากาศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา

Voyager 2 launch in 1977 (c) NASA

แม้ยานวอยเอเจอร์ 2 จะถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศก่อนยานวอยเอเจอร์ 1 เป็นเวลา 16 วัน แต่วิถีการเคลื่อนที่ของวอยเอเจอร์ 1 ที่เดินทางได้รวดเร็วกว่ากันมาก ส่งผลให้ยานวอยเอเจอร์ 2 ที่เดินทางด้วยความเร็ว 54,000 กม./ชม.ไปถึงจุดสิ้นสุดอิทธิพลลมสุริยะ (Heliopause) ช้ากว่าถึง 6 ปี

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา เครื่องมือตรวจจับกระแสอนุภาคที่ส่งออกมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งติดตั้งอยู่กับยานวอยเอเจอร์ 2 ชี้ว่า ค่าของกระแสอนุภาคดังกล่าวตกลงอย่างมากเป็นครั้งแรก อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ายานได้ข้ามพ้นเขตอิทธิพลลมสุริยะหรือ Heliosphere ซึ่งเป็นขอบเขตที่ดวงอาทิตย์สามารถแผ่สนามแม่เหล็กและกระแสลมสุริยะไปถึงได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจกล่าวได้ว่ายานวอยเอเจอร์ 2 ได้เดินทางออกพ้นขอบเขตของระบบสุริยะแล้ว เนื่องจากยังไปไม่ถึงกลุ่มเมฆออร์ต (Oort cloud) ซึ่งประกอบไปด้วยวัตถุอวกาศและดาวหางจำนวนมากที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของแรงดึงดูดจากดวงอาทิตย์ ทำให้ในทางเทคนิคแล้วนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยถือว่ากลุ่มเมฆนี้เป็นเส้นขอบเขตที่แท้จริงของระบบสุริยะ

Artist's impression of the Voyager probe in space

แม้ยานวอยเอเจอร์ 2 จะมีอายุการใช้งานนานมากแล้ว โดยได้ผ่านภารกิจสำรวจดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 1989 แต่ปัจจุบันองค์การนาซาแถลงว่า อุปกรณ์สำรวจต่าง ๆ หลายชิ้นยังคงใช้งานได้ดีอยู่ และยานจะทำหน้าที่สำรวจห้วงอวกาศระหว่างดวงดาวนี้ต่อไป จนกว่าแหล่งพลังงานพลูโตเนียมที่ผลิตไฟฟ้าขับเคลื่อนยานจะหมดลง

ส่วนยานวอยเอเจอร์ 1 นั้น ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเดินทางไปถึงกลุ่มเมฆออร์ตในอีกหลายร้อยปีข้างหน้า ก่อนจะไปถึงดาวดวงแรกนอกระบบสุริยะในอีก 40,000 ปีนับจากนี้ และจะล่องลอยอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกต่อไปเป็นเวลาหลายพันล้านปี

ที่มา – https://www.bbc.com/thai/topics/0f469e6a-d4a6-46f2-b727-2bd039cb6b53

 

Rate Us

Rate our Website !!

Links

SDalumni PTAD St.John Bosco's Bicentenary SAVIO ESPRESSO

CONTACT US

โรงเรียนเซนต์ดอมินิก
1526 ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ แขวง มักกะสัน เขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
E-mail : [email protected]
Tel. 02-652-7477-80 Fax. 02-652-7777
Saint Dominic School